ความรู้เรื่องโรคทริคิโนซิส
ICD 10 : B75 ข้อมูลการเฝ้าระวัง

ลักษณะโรค

เป็นโรคที่เกิดจากตัวอ่อนของพยาธิในกล้ามเนื้อ อาการในคนแตกต่างกันมากขึ้นกับจำนวนตัวอ่อนที่รับประทานเข้าไป อาจเป็นการติดเชื้อโดยไม่ปรากฏอาการหรือรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
สาเหตุ
พยาธิตัวกลมลำไส้ Trichinella spiralis ตัวอ่อนของพยาธิชนิดนี้จะอยู่ตามกล้ามเนื้อ และมีถุงหุ้มแคลเซียมเกาะ ทำให้ทนทานต่อกระบวนการถนอมอาหาร เช่น การหมักเกลือ การใช้เครื่องเทศ และการรมควัน มีรายงานพบตัวอ่อนที่มีชีวิตในกล้ามเนื้อคนได้นานถึง 5-10 ปี
วิธีการติดต่อ
ติดโดยการกินเนื้อสัตว์ที่มีพยาธิตัวอ่อน โดยปรุงดิบ ๆ ดิบๆสุก ๆ หรือสุกไม่เพียงพอ เช่น สาบ ลู่ แหนม ถุงซีสต์หุ้มตัวอ่อนจะถูกย่อยที่กระเพาะอาหาร ตัวอ่อนจะเข้าไปฝังตัวในเซลล์ผนังลำไส้เล็กแล้วเจริญเติบโตเป็นตัวแก่ภายใน 2 วัน เมื่อผสมพันธุ์แล้ว ตัวเมียจะผลิตตัวอ่อนได้มากถึง 1,500 ตัว ตัวอ่อนจะไชเข้าท่อน้ำเหลือง และหลอดเลือดฝอย เข้าสู่กระแสเลือดแล้วกระจายไปทั่วร่างกาย ไปฝังตัวตามกล้ามเนื้อลาย เช่น กล้ามเนื้อกระบังลม น่อง ซี่โครง และแขน
ระยะฟักตัว
พบได้ตั้งแต่ 18 ชั่วโมง ถึง 1 เดือน ขึ้นกับปริมาณพยาธิตัวอ่อนที่รับประทานเข้าไป แต่ส่วนใหญ่จะปรากฏอาการภายใน 8-15 วันหลังจากกินพยาธิตัวอ่อน
ระยะติดต่อ
ไม่ติดต่อจากคนถึงคน สัตว์นำโรครวมถึงสัตว์ป่าสามารถแพร่เชื้อได้นานหลายเดือน และเนื้อสัตว์จะยังคงมีพยาธิตัวอ่อนที่มีชีวิต ยกเว้นจะถูกทำลายโดยการปรุงให้สุกด้วยความร้อน หรือเก็บแช่แข็งเป็นเวลานานพอ
อาการและอาการแสดง
อาการในคน
อาการในคนจะรุนแรงมากหรือน้อยแตกต่างกันออกไปขึ้นกับจำนวนพยาธิตัวอ่อนที่รับประทานเข้าไป แบ่งอาการได้ 3 ระยะ คือ
อาการในสัตว์
สัตว์ที่เป็นโรคมักไม่แสดงอาการให้สังเกตเห็น ในสุกรถ้ามีพยาธิมากๆ คือเกิน 1,300 ตัว ต่อน้ำหนักกระบังลม 1 กรัม อาจแสดงอาการป่วย เช่น ไข้ ซึม หายใจลำบาก ปวดตามหน้า ขาแข็ง เดินเก้งก้าง เจ็บตามกล้ามเนื้อ และตายในที่สุด
ระบาดวิทยาของโรค
ทริคิโนซิสเป็นโรคสัตว์ติดคนที่พบได้ทั่วโลก ในประเทศไทยส่วนมากพบในภาคเหนือเกือบทุกจังหวัด ที่จังหวัดชุมพรเคยมีรายงานพบผู้ป่วยโรคนี้เนื่องจากการกินเนื้อเต่าบกแบบสุก ๆ ดิบๆ อุบัติการแตกต่างกันออกไปตามพฤติกรรมการบริโภคและการปรุงอาหาร โดยเฉพาะอาหารจากเนื้อสุกรและสัตว์ป่าที่ปรุงไม่สุก หรือสุก ๆ ดิบ ๆ การเกิดโรคมักเกิดระหว่างเดือนมกราคมถึงมิถุนายน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านมีกิจกรรมร่วมกัน เช่น งานปีใหม่ งานเลี้ยงหลังการเก็บเกี่ยว งานมงคลสมรส และงานขึ้นบ้านใหม่ ซึ่งในงานดังกล่าวจะมีการชำเเหละสุกรมาปรุงเป็นอาหารในงาน ผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในเขตชนบท และอยู่ในวัยทำงาน โดยกลุ่มอายุที่มักพบคือ 25-40 ปี เมื่อพิจารณาตามเพศพบว่าเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิงเนื่องจากผู้ชายนิยมกินลาบดิบ ลู่ดิบ แหนมดิบกับสุรา จากอุปนิสัยการบริโภคของคนไทยในภาคเหนือที่นิยมบริโภคอาหารสุกๆ ดิบๆ ประเภทลาบ ลู่ หรือแหนม จึงมีโอกาสเกิดโรคนี้ได้สูง ประกอบกับโรคทริคิโนซิสในสุกรมักจะไม่แสดงอาการ จึงทำให้ประชาชนทั่วไปที่ประสงค์จะซื้อสุกรมีชีวิต เพื่อนำมาชำแหละประกอบอาหารเองนั้น จะไม่มีทางทราบเลยว่าสุกรเป็นโรคหรือไม่ ดังนั้นจึงควรซื้อสุกรจากแหล่งที่มีการเลี้ยงอย่างถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล หรือจากฟาร์มที่มีชื่อเสียง ควบคู่กับการปรับเปลี่ยนสุขนิสัยในการรับประทานอาหาร ก็จะทำให้อัตราป่วยด้วยโรคทริคิโนซิสในประเทศไทยลดลงได้
การรักษาในสัตว์เศรษฐกิจ
ไม่นิยมรักษา ถ้าพบว่าสัตว์เป็นโรคทริคิโนซิส ให้ทำลาย และห้ามนำเนื้อนั้นไปเป็นอาหารของคนหรือสัตว์อื่น
การรักษา
การรักษาโรคทริคิโนซิสในคนประกอบด้วยการทำลายพยาธิตัวแก่ และการทำลายพยาธิตัวอ่อนในลำไส้ และตัวอ่อนในกล้ามเนื้อที่ยังไม่มีซิสต์หุ้ม และตัวอ่อนที่มีซิสต์หุ้มแล้ว
  • การทำลายพยาธิตัวแก่ อาจเลือกใช้ยาทำลายพยาธิ เช่น ให้รับประทาน Pyrantel ให้ขนาด 10 มก. /กก./วัน ติดต่อกัน 5 วัน , Levamisole ให้ขนาด 2.5 มก./กก./วัน รวมไม่เกิน 150 มก./วัน นาน 3 วัน Thiabendazole ให้ขนาด 25 มก./กก./วัน นาน 2-5 วัน
  • การทำลายพยาธิตัวอ่อน
    ใช้ยาในกลุ่ม Benzimidazole ซึ่งปัจจุบันไม่แนะนำให้ใช้ยา Thiabendazole เนื่องจากมีผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ เวียนศรีษะ ผื่นแพ้ตามตัว และระคายเคืองกระเพาะลำไส้
    สำหรับผู้ป่วยอาการน้อยถึงปานกลาง ให้ Mebendazole 5 มก./กก./วัน รวมไม่เกิน 200 มก./วัน แบ่งให้เช้าเย็น นาน 5 วัน หรือให้ Albendazole 400 มก. นาน 5 วัน
    ผู้ป่วยอาการน้อยไม่ควรให้ Corticosteroids เพราะจะยืดเวลากำจัดพยาธิตัวแก่ในลำไส้ ทำให้ผลิตตัวอ่อนได้มากขึ้น กรณีนี้ให้ antipyretic และ analgesic ก็เพียงพอ
    ผู้ป่วยอาการปานกลาง ให้ Prednisolone ขนาด 20-40 มก./วัน
    สำหรับผู้ป่วยอาการรุนแรง
    กรณีมีไข้สูง มักมีอาการแพ้รุนแรง มีเม็ดเลือดขาวสูง อีโอซิโนฟิลสูง ควรให้ Mebendazole 5 มก./กก./วัน แบ่งให้เช้าเย็น หรือเพิ่มเป็น 3 เวลา รวมไม่เกิน 400 มก./วัน โดยอาจให้ได้นานถึง 2 สัปดาห์ ควรให้ Corticosteroids เพื่อเป็น antiinflammatory, antiallergic และ antishock โดยใช้ Prednisolone 40-60 มก./วัน จนกว่าไข้และอาการแพ้จะหายไป
    ในรายที่มีอาการรุนแรงมากต้องเพิ่มขนาดยาเพื่อรักษาชีวิต จำเป็นต้องให้นอนพักและให้ intensive care โดยเฉพาะรายที่มีอาการแทรกซ้อน ในรายที่รุนแรงอาจให้ Prednisolone 40 มก. เข้าหลอดเลือดดำทุก 6 ชั่วโมงจนกว่าอาการดีขึ้น แล้วตามด้วยการให้กิน Prednisolone 40-60 มก. นาน 10 วัน การรักษาในผู้ป่วยบางกลุ่ม
    เด็ก ต้องให้การดูแลรักษาใกล้ชิด โดยเฉพาะระยะเฉียบพลัน เนื่องจากมักทีปฏิกิริยาทาง vascular และ hypersensitivity สูง
    ผู้ป่วยที่มีอาการแทรกซ้อน ต้องดูแลรักษาใกล้ชิด สตรีมีครรภ์ อาการมักรุนแรงน้อยกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น อาจเนื่องมาจากมีการเพิ่มระดับ steroid และ histamine ไม่ควรให้ corticosteriods และไม่ควรให้ยาในกลุ่ม benzimidazole นอกจากมีเหตุผลจำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาสแรกของครรภ์ เนื่องจากอาจจะมีผลต่อทารกในครรภ์
    การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
    ประเทศไทยมีเครือข่ายห้องปฏิบัติการที่มีความสามารถตรวจโรคนี้ทางซีรั่มอิมมูนวิทยา การตรวจวินิจฉัย ได้แก่
    • ศูนย์ความร่วมมือนานาชาติ โรคทริคิโนซิส คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    • ศูนย์วิจัยและชันสูตรโรคสัตว์ภาคเหนือ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง
    • คณะเวชศาสตร์เขตร้อน และคณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล
    การศึกษาทางห้องปฏิบัติการ โดยการเจาะเลือดในผู้ป่วยพบเม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิลเพิ่มสูงขึ้น10-90% และ/หรือ Creatinine Kinease ในซีรั่มสูงกว่าปกติ (มากกว่า 30 U/L) รวมทั้งตรวจพบตัวอ่อนของพยาธิที่กล้ามเนื้อน่อง นอกจากนั้นแล้วให้นำเนื้อสัตว์ดิบ หรือซากสัตว์ที่สงสัยซึ่งยังเหลืออยู่จากการบริโภค โดยเฉพาะให้ตัดบริเวณกล้ามเนื้อกะบังลม หรือเนื้อติดซี่โครง ให้นำมาตรวจด้วยวิธี Compression and Digestion เพื่อตรวจหาพยาธิในกล้ามเนื้อ โดยประสานงานกับปศุสัตว์ในพื้นที่ รายละเอียดของการเก็บตัวอย่างและการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการมีดังต่อไปนี้
    การเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วย
    • การตรวจชิ้นเนื้อ ควรทำหลังกินอาหารที่สงสัยตั้งแต่ 10 วันถึง 4 สัปดาห์ เป็นวิธีตรวจหาตัวอ่อนที่ยังไม่มีแคลเซียมมาเกาะ ควรตัดชิ้นเนื้อน่องบริเวณที่ผู้ป่วยรู้สึกปวดมากที่สุด เพื่อเพิ่มโอกาสการพบตัวอ่อน มักทำที่กล้ามเนื้อ deltoid, bicep หรือ gastrocnemius
    • การตรวจเลือด จะพบเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น และพบเม็ดเลือดขาวชนิดอีโอซิโนฟิลเพิ่มสูงขึ้น 10-90% นอกจากนั้นอาจพบเม็ดเลือดแดงเพิ่มด้วย และจะพบระดับเอมไซม์สูงขึ้น เช่น CPK (Crestinine Phosphokinase)
    • การตรวจทางซีรั่มวิทยา
    อาจทำได้หลังจากสัปดาห์ที่ 3 และควรตรวจซ้ำ 2 ครั้ง ทำได้โดยวิธีต่าง ๆ เช่น Indirect fluorescent antibody test, Bentonite flocculation test , Latex aggutination test และ ELISA (Enzyme-Linked Immunosorbent Assay)
    การเก็บตัวอย่างจากสัตว์
    การวินิจฉัยโรคในสัตว์โดยดูอาการทำนั้นทำได้ยาก เนื่องจากสัตว์ไม่แสดงอาการ ยกเว้นมีตัวอ่อนเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการวินิจฉัยจึงต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการเป็นหลัก ซึ่งมีวิธีการตรวจได้หลายวิธี
  • การตรวจชิ้นเนื้อ
    เก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อซึ่งยังสดอยู่จากกล้ามเนื้อกระบังลม กล้ามเนื้อระหว่างซี่โครง กล้ามเนื้อน่อง หลัง ลิ้น แก้ม ขนาดประมาณ 100 กรัม นำไปตรวจสอบด้วยวิธีซึ่งจะกล่าวต่อไป หรือแช่ใน Glycerine ส่งห้องปฏิบัติการ
    วิธี Compression technique เลาะพังผืดออกจากเนื้อที่จะตรวจให้หมด แล้วใช้มีดผ่าตัดเฉือนเนื้อให้บางที่สุดตามความยาวของกล้ามเนื้อ หรือใช้กรรไกรปลายงอนตัวแฉลบให้ได้ขนาดของชิ้นเนื้อกว้างประมาณ 3 มม. ยาวประมาณ 10 มม. นำชิ้นเนื้อที่ตัดออกนี้ไปบีบให้แบนระหว่างแผ่นสไลด์หรือกระจกหนาสองแผ่น บีบปลายสองด้านให้แน่นด้วยตัวหนีบ หรือยางรัด ตรวจหาพยาธิตัวอ่อนในชิ้นเนื้อด้วยกล้องจุลทรรศ์กำลังขยาย x 25 หรือ Trichinoscope ในการตรวจควรจะตรวจชิ้นเนื้ออย่างน้อย 5 ชิ้น และถ้าหยดน้ำยา Lacto-phenol ลงบนชิ้นเนื้อจะทำให้เห็นพยาธิได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
    วิธี Digestive technique เลาะพังผืดต่าง ๆ ออกจากเนื้อเช่นเดียวกัน แล้วไปบดด้วยเครื่องบดเนื้อ ผสมกับน้ำยาย่อยเนื้อในอัตราส่วน 1: 10 โดยน้ำยาย่อยมีส่วนผสมดังนี้
    Pepsin 35.0 กรัม
    HCL (conc.) 30.0 มล.
    น้ำ 3,000.0 มล.
    ผสมเนื้อกับน้ำยาย่อย คนให้เข้ากัน ตั้งไว้อย่างน้อยครึ่งชั่วโมงแล้วจึงนำเข้าตู้อบที่อุณหภูมิ 37oC นาน 18 ชั่วโมง ดูดเอาส่วนข้างบนออกให้เหลือประมาณ 1/5 แล้วเติมน้ำเปล่าลงไปจนมีปริมาตรเท่าของเดิม ตั้งทิ้งไว้ครึ่งชั่วโมงแล้วดูดน้ำส่วนข้างบนออก นำส่วนที่เหลือเทใส่ petri dish ตรวจหาพยาธิตัวอ่อนด้วยกล้องจุลทรรศน์
  • การตรวจทางซีรั่มวิทยา
    เจาะเลือดจำนวน 3-5 มล. แล้วแยกซีรั่มส่งห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจต่อไป
    มาตรการควบคุมโรคเบื้องต้นและจำเพาะ
    มาตรการในระยะระบาด ระหว่างการสอบสวนโรค
    ต้องสอบสวนโรคทางระบาดวิทยาเพื่อหาชนิดของอาหาร และสัตว์ที่เป็นสาเหตุให้ได้ และการให้สุขศึกษาเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร หรือการปฏิบัติผิด ๆ ที่พบในการเลี้ยงสัตว์ และการผลิตอาหารจากเนื้อสัตว์ และแจ้งข่าวการระบาดไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งทางสาธารณสุขและปศุสัตว์ ควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ไปยังต่างท้องที่ หากพบพยาธิในซากสัตว์ หรือสัตว์มีชีวิตต้องรักษาหรือทำลาย มาตรการควบคุมผู้ป่วย ผู้สัมผัส และสิ่งแวดล้อม
    • การแยกผู้ป่วย : ไม่จำเป็น
    • การทำลายเชื้อ :ไม่จำเป็น
    • การกักกัน : ไม่จำเป็น
    • การให้ภูมิคุ้มกันแก่ผู้สัมผัส : ไม่มี

    มาตรการป้องกัน
    • ให้สุขศึกษาแก่ประชาชน รวมทั้งผู้ล่าสัตว์ให้ทราบถึงความจำเป็นที่จะต้องปรุงอาหารโดยเฉพาะเนื้อสุกรชาวเขา สุกรป่า สัตว์ป่า ให้สุกด้วยความร้อนอย่างน้อย 77 องศาเซลเซียส หรือจนกระทั่งเนื้อเปลี่ยนไปจากสีชมพูเป็นสีเทาทุกส่วน
    • ให้สุขศึกษาแก่ผู้เลี้ยงสุกรให้เลี้ยงสุกรในคอกที่สุขลักษณะ และเลี้ยงด้วยอาหารสำเร็จรูป หรือหากจำเป็นต้องใช้เศษอาหารต้องทำให้สุกก่อน และควรกำจัดหนูบริเวณคอกด้วย
    • ออกกฎหมายให้มีมาตรการตรวจเนื้อ เพื่อควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหารประเภทเนื้อสุกร ซึ่งอาจใช้การตรวจหาตัวอ่อนในเนื้อสัตว์โดยวิธีการย่อย
    • สำรวจโรคในสัตว์เพื่อประเมินความชุกของโรค และการกระจายตามพื้นที่ โดยทำการตรวจทางอิมมูโนวิทยาด้วยวิธี ELISA ในสัตว์มีชีวิต เนื่องจากสัตว์ที่เป็นโรคมักไม่แสดงอาการ
    • ซากสัตว์ที่มีพยาธิตัวอ่อนทริคิเนลล่า ต้องทำลายตัวอ่อนก่อนอนุญาตให้จำหน่ายโดยการแช่แข็งชิ้นเนื้อหนาไม่เกิน 15 เซนติเมตร ที่อุณหภูมิ -15 องศาเซลเซียส นาน 30 วัน หรือที่ -25 องศาเซลเซียส นาน 10 วัน ชิ้นเนื้อที่หนาเกิน 15 เซนติเมตรต้องเก็บที่อุณหภูมิต่ำกว่านี้อย่างน้อย 20 วัน
    • แนะนำและตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปจากเนื้อสุกร เช่น แหนม เพื่อให้ปลอดจากพยาธิตัวอ่อน เช่น การฉายรังสีแกมม่าเพื่อทำลายตัวอ่อน

    บาดทะยัก // ไข้สมองอักเสบ // ทริคิโนซิส // ไข้ไทฟอยด // ตับอักเสบ A // มาลาเรีย // Ebola // Leptospirosis // Streptococus // ไข้เหลือง


    เรียบเรียงโดย สัตว์แพทย์หญิงเสาวพักตร์ เหล่าศิริถาวร, สัตว์แพทย์ธีรศักดิ์ ชักนำ